วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

ประวัติกีฬาปิงปอง

เท่าที่มีหลักฐานบันทึกพอให้ค้นคว้า  ทำให้เราได้ทราบว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสได้เริ่มขึ้นที่ประเทศอังกฤษ  ในปี ค.ศ.  1890  ในครั้งนั้น  อุปกรณ์ที่ใช้เล่นประกอบด้วย  ไม้  หนังสัตว์  ลักษณะคล้ายกับไม้เทนนิสในปัจจุบันนี้   หากแต่ว่าแทนที่จะขึงด้วยเส้นเอ็นก็ใช้แผ่นหนังสัตว์หุ้มไว้แทน  ลูกที่ใช้ตีเป็นลูกเซลลูลอยด์  เวลาตีกระทบถูกพื้นโต๊ะและไม้ก็เกิดเสียง “ปิก-ป๊อก”  ดังนั้น  กีฬานี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งตามเสียงทีได้ยินว่า  “ปิงปอง” (PINGPONG)  ต่อมาก็ได้มีการวิวัฒนาการขึ้นโดยไม้หนังสัตว์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นไม้แทน  ซึ่งได้เล่นแพร่หลายในกลุ่มประเทศยุโรปก่อน 

      วิธีการเล่นในสมัยยุโรปตอนต้นนี้เป็นการเล่นแบบยัน (BLOCKING)  และแบบดันกด  (PUSHING)  ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการเล่นแบบ  BLOCKING และ CROP  การเล่นถูกตัด  ซึ่งวิธีนี้เองเป็นวิธีการเล่นที่ส่วนใหญ่นิยมกันมากในยุโรป  และแพร่หลายมากในประเทศต่าง ๆ  ทั่วยุโรป  การจับไม้ก็มีการจับไม้อยู่  2  ลักษณะ  คือ  จับไม้แบบจับมือ  (SHAKEHAND)  ซึ่งเราเรียกกันว่า  “จับแบบยุโรป”  และการจับไม้แบบจับปากกา (PEN-HOLDER)  ซึ่งเราเรียกกันว่า “จับไม้แบบจีน”  นั่นเอง  
    ในปี ค.ศ. 1900  เริ่มปรากฏว่า  มีไม้ปิงปองที่ติดยางเม็ดเข้ามาใช้เล่นกัน  ดังนั้นวิธีการเล่นแบบรุกหรือแบบบุกโจมตี (ATTRACK หรือ OFFENSIVE)  เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น  และยุคนี้จึงเป็นยุคของนายวิตเตอร์  บาร์น่า (VICTOR BARNA)  อย่างแท้จริง  เป็นชาวฮังการีได้ตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกประเภททีม  รวม 7 ครั้ง  และประเภทชายเดี่ยว  5 ครั้ง  ในปี ค.ศ. 1929-1935  ยกเว้นปี  1931  ที่ได้ตำแหน่งรองเท่านั้น  ในยุคนี้อุปกรณ์การเล่น โดยเฉพาะไม้มีลักษณะคล้าย ๆ กับไม้ในปัจจุบันนี้ วิธีการเล่นก็เช่นเดียวกัน คือมีทั้งการรุก (ATTRACK)  และการรับ (DEFENDIVE)  ทั้งด้าน  FOREHAND  และ  BACKHAND  การ จับไม้ก็คงการจับแบบ  SHAKEHAND  เป็นหลัก  ดังนั้นเมื่อส่วนใหญ่จับไม้แบบยุโรป  แนวโน้มการจับไม้แบบ PENHOLDER  ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมีน้อยมากในยุโป  ในระยะนั้นถือว่ายุโรปเป็นศูนย์รวมของกีฬาปิงปองอย่างแท้จริง

      ในปี ค.ศ. 1922  ได้มีบริษัทค้าเครื่องกีฬา  ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “PINGPONG” ด้วยเหตุนี้กีฬานี้จึงเป็นชื่อมาเป็น  “TABLE TENNIS”  ไม่สามารถใช้ชื่อที่เขาจดทะเบียนได้ประการหนึ่ง  และเพื่อไม่ใช่เป็นการโฆษณาสินค้าอีกประการหนึ่ง  และแล้วในปี ค.ศ. 1926  จึงได้มีการประชุมก่อตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (INTERNATIONAL TABLETENNIS FEDERATION : ITTF) ขึ้นที่กรุงลอนดอนในเดือนธันวาคม  ค.ศ. 1926  ภายหลังจากการได้มีการปรึกษาหารือในขั้นต้นโดย  DR. GEORG LEHMANN  แห่งประเทศเยอรมัน  กรุงเบอร์ลิน  เดือนมกราคม  ค.ศ. 1926  ในปีนี้เองการแข่งขันเทเบิลเทนนิสแห่งโลกครั้งที่ 1  ก็ได้เริ่มขึ้น  พร้อมกับการก่อตั้งสหพันธ์ฯ  โดยมีนายอีวอร์  มองตากู  เป็นประธานคนแรก  ในช่วงปี ค.ศ. 1940  นี้  ยังมีการเล่นและจับไม้พอจำแนกออกเป็น  3  ลักษณะดังนี้
      1.  การจับไม้  เป็นการจับแบบจับมือ
      2.  ไม้ต้องติดยางเม็ด
      3.  วิธีการเล่นเป็นวิธีพื้นฐาน  คือ  การรับเป็นส่วนใหญ่  ยุคนี้ยังจัดได้ว่าเป็น  “ยุคของยุโรป” อีกเช่นเคย

      ในปี ค.ศ. 1950  จึงเริ่มเป็นยุคของญี่ปุ่นซึ่งแท้จริงมีลักษณะพิเศษประจำดังนี้คือ
      1.  การตบลูกแม่นยำและหนักหน่วง
      2.  การใช้จังหวะเต้นของปลายเท้า

      ในปี ค.ศ. 1952  ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการแข่งขันเทเบิลเทนนิสโลกเป็นครั้งแรก  ที่กรุงบอมเบย์  ประเทศอินเดีย  และต่อมาปี ค.ศ. 1953  สาธารณรัฐประชาชนจีน  จึงได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่กรุงบูคาเรสต์  ประเทศรูมาเนีย  จึงนับได้ว่ากีฬาปิงปองเป็นกีฬาระดับโลกที่แท้จริงปีนี้นั่นเอง

      ในยุคนี้ญี่ปุ่นใช้การจับไม้แบบจับปากกา  ใช้วิธีการเล่นแบบรุกโจมตีอย่างหนักหน่วงและรุนแรง  โดยอาศัยอุปกรณ์เข้าช่วย  เป็นยางเม็ดสอดไส้ด้วยฟองน้ำเพิ่มเติมจากยางชนิดเม็ดเดิมที่ใช้กันทั่วโลก
     
      การเล่นรุกของยุโรปใช้ความแม่นยำและช่วงตีวงสวิงสั้น ๆ เท่านั้น  ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บ่า  ข้อศอก  และข้อมือเท่านั้น  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งใช้ปลายเท้าเป็นศูนย์กลางของการตีลูกแบบรุกเป็นการเล่นแบบ “รุกอย่างต่อเนื่อง”  ซึ่งวิธีนี้สามารถเอาชนะวิธีการเล่นของยุโรปได้  การเล่นโจมตีแบบนี้เป็นที่เกรงกลัวของชาวยุโรปมาก  เปรียบเสมือนการโจมตีแบบ “KAMIKAZE” (การบินโจมตีของฝูงบินหน่วยกล้าตายของญี่ปุ่น)  ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในญี่ปุ่นกันว่า  การเล่นแบบนี้เป็นการเล่นที่เสี่ยงและกล้าเกินไปจนดูแล้วรู้สึกว่าขาดความรอบคอบอยู่มาก  แต่ญี่ปุ่นก็เล่นวิธีนี้ได้ดี  โดยอาศัยความสุขุมและ Foot work  ที่คล่องแคล่วจนสามารถครองตำแหน่งชนะเลิศถึง  7  ครั้ง  โดยมี  5  ครั้งติดต่อกัน  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953-1959

      สำหรับในยุโรปนั้นยังจับไม้แบบ SHAKEHAND และรับอยู่ จึงกล่าวได้ว่าในช่วงแรก ๆ ของปี ค.ศ. 1960 ยังคงเป็นจุดมืดของนักกีฬายุโรปอยู่นั่นเอง

      ในปี ค.ศ. 1960  เริ่มเป็นยุคของจีน  ซึ่งสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้โดยวิธีการเล่นที่โจมตีแบบรวดเร็ว  ผสมผสานกับการป้องกัน  ในปี  1961  ได้จัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศ  ครั้งที่  26  ที่กรุงปักกิ่ง  ประเทศจีน  จีนเอาชนะญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นยังใช้นักกีฬาที่อายุมาก  ส่วนจีนได้ใช้นักกีฬาที่หนุ่มสามารถเล่นได้อย่างรวดเร็วปานสายฟ้าทั้งรุกและรับ การจับไม้ก็เป็นการจับแบบปากกา  โดยจีนชนะทั้งประเภทเดี่ยวและทีม  3  ครั้งติดต่อกัน  ทั้งนี้เพราะจีนได้ทุ่มเทกับการศึกษาการเล่นของญี่ปุ่นทั้งภาพยนตร์ที่ได้บันทึกไว้และเอกสารต่าง ๆ  โดยประยุกต์การเล่นของญี่ปุ่น  เข้ากับการเล่นแบบสั้น ๆ แบบที่จีนถนัดกลายเป็นวิธีการเล่นที่กลมกลืนของจีนดังที่เราเห็นในปัจจุบัน

      ยุโรปเริ่มฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  โดยนำวิธีการเล่นของชาวอินเดียมาปรับปรุง  นำโดยนักกีฬาชาวสวีเดนและประเทศอื่น ๆ  ซึ่งมีหัวก้าวหน้าไม่มัวแต่แต่คิดจะรักษาหน้าของตัวเองว่าไม่เรียนแบบของชาติอื่นๆ ดังนั้นชายยุโรปจึงเริ่มชนะชายคู่  ในปี  1967  และ  1969  ซึ่งเป็นนักกีฬาจากสวีเดน  ในช่วงนั้นการเล่นแบบรุกยังไม่เป็นที่แพร่หลายทั้งนี้เพราะวิธีการเล่นแบบรับได้ฝังรากในยุโรป  จนมีการพูดกันว่านักกีฬายุโรปจะเรียนแบบการเล่นลูกยาวแบบญี่ปุ่นนั้นคงจะไม่มีทางสำเร็จแต่การที่นักกีฬาของสวีเดนได้เปลี่ยนวิธีการเล่นแบบญี่ปุ่นได้มีผลสะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนรุ่นหลังของยุโรปเป็นอย่างมาก  และแล้วในปี  1970  จึงเป็นปีของการประจันหน้าระหว่างผู้เล่นชาวยุโรปและผู้เล่นชาวเอเชีย

      ช่วงระยะเวลาได้ผ่านไปประมาณ  10  ปี  ตั้งแต่  1960-1970   นักกีฬาของญี่ปุ่นได้แก่ตัวลงในขณะที่นักกีฬารุ่นใหม่ของยุโรปได้เริ่มฉายแสงเก่งขึ้น  และสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศชายเดี่ยวของโลกไปครองได้สำเร็จในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งโลก  ครั้งที่  31  ณ กรุงนาโกน่า  ในปี  1971  โดยนักเทเบิลเทนนิส  ชาวสวีเดน  ชื่อ  สเตลัง  เบนค์สัน  เป็นผู้เปิดศักราชให้กับชาวยุโรป  ภายหลังจากที่นักกีฬาชาวยุโรปได้ตกอับไปถึง  18  ปี  ในปี 1973  ทีมสวีเดนก็ได้คว้าแชมป์โลกได้จึงทำให้ชาวยุโรปมีความมั่นใจในวิธีการเล่นที่ตนได้ลอกเลียนแบบและปรังปรุงมา  ดังนั้นนักกีฬาของยุโรปและนักกีฬาของเอเชียจึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญในขณะที่นักกีฬาในกลุ่มชาติอาหรับและลาตินอเมริกา  ก็เริ่มแรงขึ้นก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น  เริ่มมีการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคนิคซึ่งกันและกัน การเล่นแบบตั้งรับซึ่งหมดยุคไปแล้วตั้งแต่ปี  1960  เริ่มจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นมาอีก  โดยการใช้ความชำนาญในการเปลี่ยนหน้าไม้ในขณะเล่นลูก  หน้าไม้ซึ่งติดด้วยยางปิงปอง  ซึ่งมีความยาวของเม็ดยางยาวกว่าปกติ  การใช้ยาง  ANTI – SPIN เพื่อพยายามเปลี่ยนวิถีการหมุนและทิศทางของลูกเข้าช่วย ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้นี้มีส่วนช่วยอย่างมาก ในขณะนี้กีฬาเทเบิลเทนนิสนับว่าเป็นกีฬาที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีวิธีการเล่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งผู้เล่นเยาวชนต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิสต่อไปในอนาคตได้อย่างไม่มีที่วันสิ้นสุด และขณะนี้กีฬานี้ก็ได้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก โดยเริ่มมีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นครั้งแรก

ประโยชน์ของการเล่นกีฬาปิงปอง

กีฬาเทเบิลเทนนิส หรือ ปิงปอง ที่เรารู้จักกันนั้น ถือเป็นกีฬาที่มีความยากในการเล่น เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากธรรมชาติของกีฬาประเภทนี้นั้น ถูกจำกัดให้ตีลูกปิงปองลงบนโต๊ะของคู่ต่อสู้ ซึ่งพื้นที่บนฝั่งตรงข้ามมีเพียง พื้นที่ แค่ 4.5 ฟุต X 5 ฟุตเท่านั้น และลูกปิงปองยังมีความเบามาก เพียง 2.7 กรัม เท่านั้น และความเร็วในการเคลื่อนที่จากฝั่งหนึ่ง ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ยังใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาทีอีกต่างหาก แถมลูกปิงปองที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น ยังมีความหมุนรอบตัวเองอีกด้วย ซึ่งลูกปิงปองที่กำลังเคลื่อนที่มาหาเรานั้น เราจะต้องตีกลับไปอีกด้วย เพราะไม่ตี หรือ ตีไม่ได้ ก็หมายถึงการเสียคะแนนทันที

แต่ในความยากนั้น ก็ย่อมมีประโยชน์สำหรับผู้เล่นเหมือนกัน เพราะ เป็นกีฬาที่ต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายร่วมกันทั้งหมด ซึ่งส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้ มีดังนี้

1. สายตา
สายตาจะต้องจ้องมองลูกอยู่ตลอดเวลา แต่การจ้องลูกอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจะต้องจ้องมองและสังเกตหน้าไม้ของคู่ต่อสู้อีกด้วยว่า ตีลูกความหมุนลักษณะใดมาหาเรา

2. สมอง
ปิงปอง เป็นกีฬาที่ต้องใช้สมองในการคิดเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องวางแผนการเล่นอีกด้วย

3. มือ
มือที่ใช้จับไม้ปิงปอง จะต้องคล่องแคล่วและว่องไว รวมถึงต้องรู้สึกได้เมื่อลูกปิงปองสัมผัสถูกหน้าไม้

4. ข้อมือ
ในการตีบางลักษณะ จำเป็นต้องใช้ข้อมือเข้าช่วย ลูกจึงจะมีความหมุนมากยิ่งขึ้น

5. แขน
ต้องมีพลกำลังและมีความอดทนในการฝึกซ้อมที่ต้องซ้อมแบบซ้ำและซ้ำอีก

6. ลำตัว
การตีลูกปิงปองในบางจังหวะ  ต้องใช้ลำตัวเข้าช่วย

7. ต้นขา
แน่นอนว่าเมื่อกีฬาปิงปองเป็นกีฬาที่มีความเร็วสูง ต้นขาจึงต้องแข็งแรง และเตรียมพร้อมในการเคลื่อนที่ตลอดเวลา

8. หัวเข่า
ต้องย่อเข่า เพื่อเตรียมพร้อมในการเคลื่อนที่

9. เท้า
ต้องเคลื่อนที่เข้าหาลูกปิงปองตลอดเวลา หากเท้าไม่เคลื่อนที่เข้าหาลูกปิงปอง ก็จะทำให้ไม่มีฟุตเวิร์ด และตามตีลูกปิงปองไม่ทัน

จะเห็นได้ว่า กีฬาเทเบิลเทนนิสจะใช้ทุกส่วนของร่างกายในการเล่น เนื่องจากเป็นกีฬาที่มีความรวดเร็วนั่นเอง และยังไม่รวมถึงจิตใจที่จะต้องมีความเข้มแข็ง อดทน ทั้งในการฝึกซ้อม และ จิตใจที่จะต้องเป็นนักสู้เมื่อลงทำการแข่งขัน เพราะเป็นกีฬาประเภทบุคคลที่จะต้องพึ่งความสามารถของตนเองมากกว่าที่จะต้องอาศัยเพื่อนร่วมทีม ดังเช่นกับกีฬาประเภททีมอื่นๆ

สำหรับสิ่งที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับติดตามมาก็คือ การมีจิตใจและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย , การได้มีโอกาสมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เล่นกีฬาในการเข้าศึกษาในสถาบันหรือโรงเรียนต่างๆ หรือ หากได้มีโอกาสรับใช้ชาติได้ ก็จะเป็นเกียรติต่อทั้งวงศ์ตระกูลรวมทั้งประโยชน์ต่อตนเอง ทั้งชื่อเสียง , ประสบการณ์ในการเดินทางไปแข่งขันในดินแดนต่างๆ หรือ อาจจะสามารถประกอบเป็นอาชีพในประเทศที่มีการเล่นกีฬาปิงปองเป็นอาชีพได้

ครับ... ในเมื่อการเล่นกีฬาประเภทนี้ สามารถให้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมายขนาดนี้แล้ว หันมาเล่นกีฬาประเภทนี้กันให้มากๆ เถอะครับ นี่ยังไม่รวมถึงเป็นกีฬาที่ไม่มีการปะทะกัน การบาดเจ็บจากการเล่นมีน้อย และยังสามารถเล่นได้ต้องแต่อายุยังน้อยจนถึงอายุ 50 , 60 และ 70 ปี ก็ยังมีคนเล่นนะครับ